ลักษณะของ…กะเพรา
ต้น กะเพราเป็นพืชสวนครัว ไม้ล้มลุกทรงพุ่มขนาดเล็ก ต้นสูง 30-60 เซนติเมตร มีอยู่ 2 พันธุ์ คือ กะเพราขาวและกะเพราแดง กะเพราขาวจะมีใบและส่วนต่างๆ เป็นสีเขียวอ่อน กะเพราแดงจะมีส่วนต่างๆ และใบเป็นสีเขียวอมม่วงแดง มีกลิ่นแรงกว่ากะเพราขาว
ใบ สีเขียวขนาดเล็กมากมายเต็มต้น เป็นใบเลี้ยงเดี่ยวรูปกลม ค่อนข้างรี กว้าง 1 เซนติเมตร ยาว 3 เซนติเมตร ใบอ่อนนุ่ม ขอบหยัก ออกตรงข้ามกัน มีขนเล็กๆ ปกคลุมไปหมดที่ใบและก้านใบมีกลิ่นหอม ยอดและใบอ่อนมีกลิ่นหอมกว่าส่วนอื่น ควรตัดแต่งกิ่งบ่อยๆ ด้วยมีดคมเพื่อให้กะเพราแตกยอดมากขึ้น
ดอก ออกดอกเป็นช่อสูงขึ้นไปเป็นชั้นๆ คล้ายฉัตร ช่อยาว 8-14 เซนติเมตร มีดอกติดอยู่โดยรอบของช่อ ก้านดอกมีขน กลีบเลี้ยงมีข้างบนและข้างล่าง กะเพราขาวมีดอกสีขาว กะเพราแดงมีดอกสีแดง
ผล ขนาดเล็กมี 4 ผลอยู่ด้วยกัน ผลแก่แห้งเป็นสีน้ำตาล ภายในมีเมล็ดเล็กสีดำอยู่มากมาย
การปลูก ปลูกได้ง่ายมากช่วงต้นฤดูฝน ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด รดน้ำให้ชุ่ม ต้นงอกงามดีในฤดูฝน หรอใช้กิ่งปักชำก็ได้แต่ไม่ค่อยนิยม กะเพราปลูกขึ้นง่ายไม่ค่อยมีโรคหรือแมลงรบกวน
ประโยชน์ทางยาของ…กะเพรา
ใบและยอด ทั้งสดและแห้ง มีรสเผ็ดร้อนฉุน ใช้แก้จุกเสียด แน่นท้อง โรคกระเพาะ ลดน้ำตาลในเลือด ใบแห้งบดเป็นยานัตถุ์แก้คัดจมูก
การใช้รักษาอาการแน่นจุกเสียด
- สำหรับผู้ใหญ่และเด็กโต ใช้ใบสด 1 กำมือหรือใบสด 25 กรัม ต้มกับน้ำให้เดือด แล้วเอาน้ำนั้นดื่มต่างน้ำ หากใช้ใบกะเพราแห้งก็ควรมีน้ำหนัก 4 กรัม เอามาต้มกับน้ำแล้วดื่มครั้งละ 1 แก้ว จนมีอาการดีขึ้น
- สำหรับเด็กอ่อน ใช้ใบสด 3 ใบ ผสมเกลือบดให้ละเอียดผสมกับน้ำผึ้งหยอดใส่ปากเด็กอ่อน 2-3 หยด นาน 2-3 วัน จะช่วยขับลมออกมาได้หมด
การใช้รักษาโรคกระเพาะ
กินใบกะเพราสดทุกวันแก้โรคกระเพาะได้ การทดลองในสัตว์ทดลองได้ผลดี
การใช้ลดน้ำตาลในเลือด
กินใบกะเพราสดทุกวันลดน้ำตาลในเลือดได้ หรือใช้ในรูปของการต้มก็ได้ ชงเป็นชาก็ได้ ควรกินควบคู่ไปกับยาแผนปัจจุบัน แล้วสังเกตอาการกับดูระดับน้ำตาลในเลือดแต่ละครั้งที่เจาะเลือด จากการทดลองป้อนสารสกัดใบกะเพราด้วยแอลกอฮอล์ 50% พบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองได้มากกว่าร้อยละ 30
รากและต้น
มีรสเผ็ดร้อน ต้มน้ำกินเป็นยาขับเหงื่อ ในคนไข้มาลาเรีย แก้พิษตานซาง แก้ไข้สันนิบาต แก้ท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ บำรุงธาตุ
กินกับน้ำผึ้งแก้หลอดลมอักเสบ
เมล็ด
มีรสเผ็ดร้อน แก้โรคทางเดินปัสสาวะ และไตอักเสบ บำรุงผิวหนัง
ทั้งต้น
เป็นยาขับลม แก้ปวดท้อง แก้ท้องเสีย และคลื่นไส้อาเจียน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น